วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

เรื่องมีอยู่ว่า

             บทความที่ผ่านมา  ผมเขียนไว้หลายปีแล้วครับ  อันเนื่องมาจากผมได้เข้า class หลักสูตร song writing ในส่วนของวิชา music appreciation ของ gen-x academy   ทางอาจารย์ได้ให้นักเรียนเขียนเพลงที่ตัวเองชื่นชอบพร้อมทั้งเหตุผลและให้เวลา 1 อาทิตย์   ไอ้ตัวผมก็มีเพลงในดวงใจมากมายจนคิดไม่ออกว่าจะเลือกเพลงไหนดี  บังเอิญในช่วงนั้นผมมีโอกาสไปเที่ยวที่เกาะลันตา  ขณะนั่งบนเรือก็มีฝนโปรยปรายลงมา  นั่นจึงเป็นที่มาของบทความชิ้นแรก   ซึ่งเมื่อผมย้อนกลับมาอ่านใหม่....ผมเขียนไปได้ยังไง??   มันดูเพ้อๆฝันๆชอบกล   แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่านั้น  ผมได้ทั้งแรงบันดาลใจ  ผมได้พบปะบุคลากรทางดนตรีในวงการ, ดีเจรุ่นใหญ่, คอลัมนิสต์ และอีกหลายๆท่านที่เชี่ยวชาญในแนวเพลงต่างๆ   ซึ่งทำให้รสนิยมในการฟังเปลี่ยนไป  รู้จักเลือกที่จะฟังมากขึ้น   เข้าใจที่มาที่ไปได้พอควร
            ทุกชีวิตย่อมเกิดมาพร้อมเสียงร้อง  มันคือเสียงแห่งการเริ่มต้น จวบจนตลอดชีวิตเราจะได้ยินเสียงต่างๆมากมาย   โดยเสียงนั้นเกิดจากการสั่นสะเทือน ไม่สม่ำเสมอ ไม่กลมกลืน ไม่คมชัด มากระทบโสตประสาท ซึ่งมีความสูงต่ำหลายระดับ เข้มข้นมากน้อยและมีน้ำเสียงเฉพาะตัว ส่วนเสียงเพลงก็เกิดจากการถูกจัดระเบียบอย่างเป็นระบบ    เกิดจังหวะและท่วงทำนองที่แน่นอน  บันทึกเป็นตัวโน๊ตได้    นำมาซึ่งความไพเราะอ่อนไหวหรือดุดัน    ทุกสรรพเสียงล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ฟังให้มีอารมณ์หลากหลาย เหงา เศร้า ซึ้ง สนุก ตื่นเต้น คึกคัก เร้าใจ  หรือบางทีเพลงก็เปรียบ เหมือนคนรัก  เราย่อมอยากรู้ในเรื่องราวต่างๆของเธอคนนั้นให้มากที่สุด  ในการฟังเพลงก็เช่นกัน  หากเราได้ดื่มด่ำกับเสียงเพลงที่ชื่นชอบพร้อมๆกับการได้รับรู้ถึงประวัติความเป็นมา จะยิ่งทำให้เรา ซาบซึ้งในบทเพลงนั้นมากยิ่งขึ้น
              มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น มีการสวดอ้อนวอนเทพเจ้า โดยใช้ร่างกายเป็นเครื่องดนตรี ใช้เท้ากระทืบให้เป็นจังหวะ ตบมือ  เขย่าเครื่องประดับที่คอ ,ข้อมือ และยังมีการนำเอาวัสดุจากธรรมชาติเช่น ไม้ ก้อนหิน กระดูกสัตว์ เมล็ดพืช มาแกว่ง,เจาะ,เป่าหรือหมุน ทำให้เกิดเสียง   ก่อนคริสตกาลราว 60,000 ปี ก็มีการประดิษฐ์ขลุ่ยกระดูกสัตว์ (เป่า)  หลังจากนั้นประมาณ 3,000 ปี ก็มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรี ประเภทดีด เช่นพิณในแถบเมโสโปเตเมีย  กรับไม้ ปี่โอโบเเละพิณคิทารา โดยใช้บรรเลงประกอบการเต้นระบำตามบ้าน  นอกจากนั้นชาวกรีกก็ใช้เครื่องสายเหล่านี้ประกอบการขับร้อง การอ่านบทกวี    ซึ่งเสียงดนตรีของแต่ละชนชาติก็จะมีความแตกต่างกัน 
             อาจารย์สุกรี เจริญสุข  ได้กล่าวถึงลักษณะและธรรมชาตฺิของดนตรีไว้พอจะสรุปได้ดังนี้
      1. ดนตรีเป็นสื่อทางอารมณ์ที่สัมผัสได้ด้วยหู
      2. ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
      3. ดนตรีเป็นเรื่องของสุนทรียะ ความไพเราะ ความงดงาม
      4. ดนตรีเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก
      5. ดนตรีเป็นเรื่องของศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เข้าถึงความไพเราะของบทเพลง
             อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ!!!!  ในรื่องของบทเพลงยังมีอะไรๆที่น่าสนใจอีกมากมาย  ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โปรดติดตามตอนต่อๆไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น