วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

บทเพลงฉบับย่อ

   ในที่นี่จะเน้นที่เพลงทางฝั่งตะวันตกนะครับ   หลักเกณฑ์โดยทั่วไปจะแบ่งกว้างๆได้ 2 ประเภทคือ
          1. Vocal Music  ก็คือเพลงร้อง ซึ่งอาจจะร้องเดี่ยว ร้องคู่ ร้องหมู่หรือร้องประสานเสียง  อาจจะมีดนตรีประกอบหรือไม่ก็ได้  
              1.1 Art Song  บทเพลงที่มีเนื้อหามาจากบทกวี โคลงกลอน  ซึ่งจะโดดเด่นในการใช้ภาษาที่งดงาม
              1.2 Madrigal  เพลงที่มักจะได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ สายลม แสงแดด ทุ่งหญ้าป่าใหญ่
              1.3 Serenade  เพลงที่ขับร้องยามค่ำคืน ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพลงจีบสาว
              1.4 Lullaby  เพลงกล่อมเด็ก
          2. Instrumental Music  เพลงบรรเลง
              2.1 Sonata เพลงที่เล่นด้วยเครื่องดนตรี 1-2 ชิ้น
              2.2 Symphony เพลงที่เล่นโดยวงดุริยางค์ทั้งวง เป็นเพลงที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในด้านรูปแบบ
              2.3 Concerto เพลงที่แต่งเพื่อให้เครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งเล่นเดี่ยวหรือเล่นร่วมกับวงดุริยางค์
              2.4 Overture เพลงโหมโรง มักจะเล่นในตอนเริ่มต้นของการแสดงคอนเสริต์

หนังสืออ้างอิง
สุนทรียภาพของชีวิต (Aesthetic Appreciation)           รองศาสตราจารย์โกสุม สายใจ
           ดร. ผดุง พรมมูล
           ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรุณี โคตรสมบัติ
           อาจารย์เอื้อมพร เนาว์เย็นผล
     โครงการศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

เพลงสำหรับบางวัน

           ในบางเวลาหลังการงานอันแสนเคร่งเครียดตลอดทั้งวัน  ผมมักจะหาเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย โดยมีเนื้อหาที่มองโลกอย่างมีความหวังและรู้สึกดี    มีอัลบั้มหนึ่งที่ผมมักจะหยิบมาฟังเสมอ  "The Invisible Band" ของวง Travis    Brit Pop ฝีมือดีจากอังกฤษ  โดยเฉพาะ single แรก  Sing  ซึ่งเป็นเพลงที่มีความลงตัวมากๆ ทั้งดนตรีและเนื้อร้อง melody ที่แสนจะสวยงามและติดหู  เสียงแบนโจที่คลอตลอดเพลง เพิ่มมนต์เสน่ห์ให้กับเพลงนี้มากขึ้น เอออ!!....ถึงแม้จะดูคัดกับ MV ก็ตาม

 

         หรือแม้ขณะที่มีอารมณ์ขุ่นหมัว หงุดหงิด ไม่อยู่กับร่องกับรอย ผมก็จะเลือกงานของ Dream Theater วงแนว Progressive Metal ฝีมือขั้นเทพวงนี้  ด้วยความสามารถเฉพาะตัวของนักดนตรีแต่ละคนในวง (ซึ่งจบจากสถาบันทางดนตรีระดับโลก MIT)  โดยเฉพาะชุดแรก ที่ถือเป็นอัลบั้มแจ้งเกิดให้กับวง "Image and Words"  คงไม่เก่าไปนะครับ  โดยเฉพาะเพลงนี้ Metropolis part I " The Miracle and The Sleepper"  แค่ช่วง intro ก็มีพลังเพียงพอที่จะนำเราให้ดื่มด่ำไปกับตัวเพลงที่ซับซ้อน  ในช่วงกลางเพลงก็มีการโชว์ solo keyboard หยอกล้อไปกับเสียง guitar ที่เล่นกันอย่างเมามัน บวกกับการหวดกลอง 2 กระเดื่อง ที่เหนือชั้น  อีกทั้งการคุมจังหวะที่แม่นยำของมือ bass  ส่วนเสียงร้องหายห่วงทั้งแหลมสูงและทรงพลัง   เมื่อฟังแล้วคลายเครียดดีจริงๆ  พูดได้คำเดียว สะใจ  (clip จาก live concert คุณภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงไม่นำมาแปะครับ)


          ส่วนในวันหยุดแสนสบายใจ ผมจะไม่ลืมอัลบั้มนี้เลย ฟังแล้วรู้สึก คึกคัก ถ้าได้ดูการแสดงสดคงจะดีไม่น้อย    MV จัดไป.......

 

          วงrockลูกผสมจาก america  เครื่องเคาะ เครื่องเป่า เครื่องสาย เล่นกระชากจังหวะ ลูกเล่นแพรวพราว  สลับสับเปลี่ยนกันเป็นพระเอกอย่างสนุกสนาน   ด้วยเสียงร้องที่ติดสำเนียง blue   เป็นเพลงที่นำมาเล่นสดได้เพลิดเพลินดีจริงๆ
     

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

องค์ประกอบของดนตรี

         องค์ประกอบพื้นฐานของดนตรีมีดังนี้
   1. เสียง (Tone)  ซึ่งจะประกอบไปด้วย
      1.1 ระดับเสียง (Pitch)
      1.2 ความยาวเสียง (Duration)
      1.3 ความเข้มเสียง(Intensity)
      1.4 คุณภาพเสียง (Quality)
   2. จังหวะ (Rhythm )   ก็จะเกี่ยวข้องกับ
      2.1 อัตราจังหวะ (Meter)โดยมีเวลาเป็นเครื่องกำหนด
      2.2 ความเร็วของจังหวะ (Tempo)ช้าหรือเร็ว
      2.3 ลีลาจังหวะ (Rhythmic Pattern) เช่น March, Waltz, Slow, Tango เป็นต้น
   3.ทำนอง (Melody)   จะมีส่วนประกอบดังนี้
      3.1 ระดับเสียงสูงต่ำ (Pitch)
      3.2 พิสัยของทำนอง  (Range) ช่วงกว้างของทำนองเพลง
      3.3 ความยาวของทำนองเพลง (length)
      3.4 รูปแบบทำนองเพลง (Contour) ทิศทางการเคลื่อนที่ของระดับเสียง
      3.5 จังหวะของทำนอง (Melodic Pattern)
      3.6 หลักเสียงของทำนอง (Tonality)
   4.การประสานเสียง ( Harmony)   เป็นเครื่องมือในการปรุงแต่งทำนองให้ไพเราะและสมบูรณ์มากขึ้น
   5.พื้นผิว  (Texture)    ก็คือแนวเสียงต่างๆในบทเพลง
   6.สีสัน (Tone Color)   คุณสมบัติของเครื่องดนตรี เสียงร้อง
   7.คีตลักษณ์หรือรูปแบบ (Form)  แบ่งออกเป็น
      7.1 เอกบท (Unitary Form) มีทำนองสำคัญเพียงทำนองเดียว เช่น เพลงชาติ เพลงสรรเสริญ
      7.2 ทวิบท (Binary Form)  มีทำนองสำคัญ 2 กลุ่ม คือทำนอง A และ B
      7.3 ตรีบท (Ternary Form)  คือ ทำนอง A หรือ1 , ทำนอง B หรือ 2 จะเป็นทำนองที่เปลี่ยนแปลง และทำนองที่ 3 ก็กลับมาที่ทำนอง A อีกครั้ง
      7.4 Song Form นำตรีบทมาเพิ่มส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นลักษณะของเพลงส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
      7.5 Rondo Form  มีแนวทำนองหลักและแนวทำนองอื่นๆอีกหลายส่วน

หนังสืออ้างอิง
      สุนทรียภาพของชีวิต (Aesthetic Appreciation)
           รองศาสตราจารย์โกสุม สายใจ
           ดร. ผดุง พรมมูล
           ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรุณี โคตรสมบัติ
           อาจารย์เอื้อมพร เนาว์เย็นผล
         โครงการศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

เรื่องมีอยู่ว่า

             บทความที่ผ่านมา  ผมเขียนไว้หลายปีแล้วครับ  อันเนื่องมาจากผมได้เข้า class หลักสูตร song writing ในส่วนของวิชา music appreciation ของ gen-x academy   ทางอาจารย์ได้ให้นักเรียนเขียนเพลงที่ตัวเองชื่นชอบพร้อมทั้งเหตุผลและให้เวลา 1 อาทิตย์   ไอ้ตัวผมก็มีเพลงในดวงใจมากมายจนคิดไม่ออกว่าจะเลือกเพลงไหนดี  บังเอิญในช่วงนั้นผมมีโอกาสไปเที่ยวที่เกาะลันตา  ขณะนั่งบนเรือก็มีฝนโปรยปรายลงมา  นั่นจึงเป็นที่มาของบทความชิ้นแรก   ซึ่งเมื่อผมย้อนกลับมาอ่านใหม่....ผมเขียนไปได้ยังไง??   มันดูเพ้อๆฝันๆชอบกล   แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่านั้น  ผมได้ทั้งแรงบันดาลใจ  ผมได้พบปะบุคลากรทางดนตรีในวงการ, ดีเจรุ่นใหญ่, คอลัมนิสต์ และอีกหลายๆท่านที่เชี่ยวชาญในแนวเพลงต่างๆ   ซึ่งทำให้รสนิยมในการฟังเปลี่ยนไป  รู้จักเลือกที่จะฟังมากขึ้น   เข้าใจที่มาที่ไปได้พอควร
            ทุกชีวิตย่อมเกิดมาพร้อมเสียงร้อง  มันคือเสียงแห่งการเริ่มต้น จวบจนตลอดชีวิตเราจะได้ยินเสียงต่างๆมากมาย   โดยเสียงนั้นเกิดจากการสั่นสะเทือน ไม่สม่ำเสมอ ไม่กลมกลืน ไม่คมชัด มากระทบโสตประสาท ซึ่งมีความสูงต่ำหลายระดับ เข้มข้นมากน้อยและมีน้ำเสียงเฉพาะตัว ส่วนเสียงเพลงก็เกิดจากการถูกจัดระเบียบอย่างเป็นระบบ    เกิดจังหวะและท่วงทำนองที่แน่นอน  บันทึกเป็นตัวโน๊ตได้    นำมาซึ่งความไพเราะอ่อนไหวหรือดุดัน    ทุกสรรพเสียงล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ฟังให้มีอารมณ์หลากหลาย เหงา เศร้า ซึ้ง สนุก ตื่นเต้น คึกคัก เร้าใจ  หรือบางทีเพลงก็เปรียบ เหมือนคนรัก  เราย่อมอยากรู้ในเรื่องราวต่างๆของเธอคนนั้นให้มากที่สุด  ในการฟังเพลงก็เช่นกัน  หากเราได้ดื่มด่ำกับเสียงเพลงที่ชื่นชอบพร้อมๆกับการได้รับรู้ถึงประวัติความเป็นมา จะยิ่งทำให้เรา ซาบซึ้งในบทเพลงนั้นมากยิ่งขึ้น
              มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น มีการสวดอ้อนวอนเทพเจ้า โดยใช้ร่างกายเป็นเครื่องดนตรี ใช้เท้ากระทืบให้เป็นจังหวะ ตบมือ  เขย่าเครื่องประดับที่คอ ,ข้อมือ และยังมีการนำเอาวัสดุจากธรรมชาติเช่น ไม้ ก้อนหิน กระดูกสัตว์ เมล็ดพืช มาแกว่ง,เจาะ,เป่าหรือหมุน ทำให้เกิดเสียง   ก่อนคริสตกาลราว 60,000 ปี ก็มีการประดิษฐ์ขลุ่ยกระดูกสัตว์ (เป่า)  หลังจากนั้นประมาณ 3,000 ปี ก็มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรี ประเภทดีด เช่นพิณในแถบเมโสโปเตเมีย  กรับไม้ ปี่โอโบเเละพิณคิทารา โดยใช้บรรเลงประกอบการเต้นระบำตามบ้าน  นอกจากนั้นชาวกรีกก็ใช้เครื่องสายเหล่านี้ประกอบการขับร้อง การอ่านบทกวี    ซึ่งเสียงดนตรีของแต่ละชนชาติก็จะมีความแตกต่างกัน 
             อาจารย์สุกรี เจริญสุข  ได้กล่าวถึงลักษณะและธรรมชาตฺิของดนตรีไว้พอจะสรุปได้ดังนี้
      1. ดนตรีเป็นสื่อทางอารมณ์ที่สัมผัสได้ด้วยหู
      2. ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
      3. ดนตรีเป็นเรื่องของสุนทรียะ ความไพเราะ ความงดงาม
      4. ดนตรีเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก
      5. ดนตรีเป็นเรื่องของศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เข้าถึงความไพเราะของบทเพลง
             อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ!!!!  ในรื่องของบทเพลงยังมีอะไรๆที่น่าสนใจอีกมากมาย  ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โปรดติดตามตอนต่อๆไป

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

เสียงเพลงในสายฝน

ท่ามกลางทะเลอันเวิ้งว้าง ขณะที่หมู่เมฆเริ่มมืดครื้ม ลมเริ่มพัดแรงขึ้น ความหนาวเหน็บกำลังคืบคลานอย่างช้าๆ ใบหน้าที่เริ่มเปียกชื้นเพราะละอองฝน ผมปรายตาไปรอบตัว ทุกสิ่งเริ่มเปียกปอนชื้นแฉะ ประหนึ่งกำลังถูกชำระล้างจากฟากฟ้า ในสายฝนนั้นมักจะให้ความรู้สึกแตกต่างหลากหลาย บางครั้งรุนแรงจนน่ากลัว บางขณะกลับหนาวเย็นและเงียบเหงา เราไม่สามารถทำนายได้ว่าฝนจะตกหรือหยุดเมื่อไหร่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คนเรามักจะผูกโยงอารมณ์ ความรู้สึก กับหยาดฝน หลายครั้งผมอดคิดไม่ได้ว่าพฤติกรรมฝนคล้ายดั่งจิตใจหญิงสาว ใกล้ชิดกลับเฉยเมย หนีห่างกลับเรียกร้อง เช่นกันความต้องการของเธอคืออะไร ใช่หรือไม่ใช่ ความแน่นอนหรือความไม่แน่นอน แต่การคิดแบบนี้ดูจะมองเพียงด้านเดียวและไม่ยุติธรรมกันเกินไป เพราะในอีกแง่มุมละอองฝนก็ให้ความเย็นฉ่ำเหมือนสาวน้อยที่ให้ความสดชื่นยามคิดถึง เหมือนดอกไม้ที่เบ่งบานในใจชายหนุ่ม และเราจะไม่รู้สึกเหน็บหนาวเลยเพราะเปียกฝนถ้าอยู่ในอ้อมกอดของคนรัก
ในบางบทเพลงที่พูดถึงสายฝนนั้น ยังมีนัยบ่งบอกถึงความทุกข์ยาก ความเจ็บปวด และน้ำตา ดั่งเช่น เพลงนี้ Crying in the rain (The Everly Brothers) ซึ่งพูดถึงคนทุกข์ที่กำลังแสวงหาสายฝนเพื่อลบรอยน้ำตาที่ขมขื่น แล้วทำไมคนเราถึงเปรียบเทียบน้ำฝนกับความทรมานในใจ หรือเพียงเพราะขณะนั้นเสียงฝนตกฟังไม่ได้สรรพ ทำให้จิตใจว้าวุ่นไปด้วย หรือการมาของหยาดฝนมักจะมาพร้อมกับเสียงฟ้าร้องซึ่งไม่ต่างอะไรกับเสียงร่ำไห้ระทมทุกข์



แต่ทุกสิ่งย่อมมีสองด้านเสมอ ในหยดฝนก็มีความชุ่มชื้นเย็นฉ่ำ สดใส Rain drops keep falling on my head คือเพลงนั้น สายฝนถูกเปรียบกับน้ำตาแห่งความปลาบปลื้มของชาวไร่ชาวนา ที่คาดหวังจะได้เห็นผลผลิตของตนกำลังเจริญงอกงามในอนาคต



เมื่อลองคิดถึงเพลงไทยกันบ้าง ผมจะลืมเพลงนี้ไปไม่ได้ ทะเลใจ (คาราบาว) ผมเชื่อว่าโดยเนื้อหาของเพลงนี้อาจจะไปกระทบใจใครหลายๆคน ซึ่งรวมถึงผมด้วย มีใครบ้างที่ไม่เคยผ่านช่วงวัยแห่งความฝัน วันเวลาแห่งการแสวงหาตัวตนที่แท้จริง กับบางคนที่กำลังค้นหาและตั้งคำถามให้กับชีวิต แต่ยิ่งหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ การได้ฟังเพลงที่มีความหมายลึกซึ้งซักเพลงก็อาจทำให้เราได้ฉุกคิดอะไรได้บ้าง
"ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย ใจในร่างกายกลับไม่เจอ ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจนั้นพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข"